การพัฒนาทักษะการอ่านตามอันดับขั้นของโรงเรียนวัดไพร่ฟ้า
การพัฒนาทักษะการอ่านตามอันดับขั้นของโรงเรียนวัดไพร่ฟ้า
(The level of reading skills development for Watpraifa school)
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โรงเรียนวัดไพร่ฟ้า ตำบลบางเดื่อ อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี
โทร.02-9783852
1.แนวคิด
1.1 แก้ปัญหาการอ่านของนักเรียนทั้งระบบ ทักษะการอ่านของนักเรียนไม่เท่ากัน กระจายอยู่ตามชั้นเรียนต่างๆ จำนวนมาก นักเรียนชั้นสูงๆ อ่านไม่ออก มีนักเรียนที่มีคุณภาพการอ่านในระดับปรับปรุง เมื่อสิ้นปีการศึกษา 2550 ร้อยละ 16.53 อยู่ในชั้นมัธยมร้อยละ 13.87 ของนักเรียนที่มีคุณภาพการอ่านระดับปรับปรุง นักเรียนไม่รักการอ่าน ขาดการค้นคว้าและไม่แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง
1.2 การนำพลวัตรแห่งการเรียนรู้ มาใช้สร้างนวัตกรรมทางการศึกษา อาศัยหลักที่เป็นพลวัตรส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง คือ
นำหลักการดังกล่าวมาออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้นักเรียนได้ปฏิบัติโดยทุกคนรู้ชัดเจนว่า ต้องทำอะไร อย่างไร และระดับใด มีการประเมินการปฏิบัติได้และแจ้งผลการประเมินให้ทราบทันที เมื่อผ่านการประเมินนักเรียนสามารถขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ซึ่งจะท้าทายให้นักเรียนได้อยู่ในกิจกรรมที่มีความยากยิ่งขึ้นตามลำดับอย่างต่อเนื่อง
1.3 การส่งเสริมให้นักเรียนประสบความสำเร็จในการอ่าน การประเมินนักเรียนโดยการทดสอบ เพื่อวัดความสามารถของนักเรียนแต่ละคนแล้วจัดเข้าอันดับที่เหมาะสม จะทำให้นักเรียนทุกคนสามารถประสบความสำเร็จ เลื่อนขั้นอันดับถัดไปได้โดยง่าย เกิดความรู้สึกนึกคิดต่อตัวเองเชิงบวก การมอบเกียรติบัตรการผ่านอันดับขั้นสูงขึ้น จะเป็นแรงเสริมให้นักเรียนกระตือรือร้นในการพัฒนามากยิ่งขึ้น จึงเป็นการสร้างความรู้สึกที่ดีต่อการอ่านและรักการอ่าน
การอ่านอิสระจะเป็นการนำทักษะการอ่านไปใช้แสวงหาความรู้ และสร้างสังคมการอ่านให้เกิดขึ้นในโรงเรียน การที่นักเรียนชั้นสูงที่มีความสามารถการอ่านต่ำต้องไปอยู่กับเด็กเล็กๆ จะทำให้เกิดความรู้สึกอายเด็ก จะมีแรงกระตุ้นให้พัฒนาการอ่านเพื่อต้องการผ่านระดับขั้นที่ตนเองอยู่มากยิ่งขึ้น
1.4 ปรับกระบวนการทัศน์ของครูด้านการสอนอ่านให้มีประสิทธิภาพ การจัดอันดับการอ่านทำให้ครูรู้ถึงความสามารถทางการอ่านของนักเรียนอย่างแท้จริง สามารถปรับกิจกรรมการสอนให้เหมาะสมกับนักเรียนแต่ละคนในการเรียนปกติ ครูเรียนรู้ตัวชี้วัดระดับคุณภาพการอ่าน วิธีฝึกและเกณฑ์การประเมินผล ซึ่งนำไปสู่การสอนอ่านและส่งเสริมการอ่านที่มีประสิทธิภาพ
2. การออกแบบระบบ
2.1 การศึกษาปัญหาการอ่านของนักเรียนโรงเรียนวัดไพร่ฟ้า พบปัญหาสำคัญ คือ
– นักเรียนระดับชั้นสูงๆ มีความสามารถในการอ่านต่ำ เป็นจำนวนมาก
– นักเรียนไม่รักการอ่าน ไม่อ่านหนังสือ ไม่แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง
– ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยรวมต่ำ
2.2 กำหนดกรอบแนวคิด เป้าหมาย วิธีการและผู้รับผิดชอบ โดย
– แต่งตั้งคณะทำงานพัฒนาทักษะการอ่านโดยให้ครูภาษาไทยทุกคนในโรงเรียนและแต่งตั้งครูผู้รับผิดชอบอันดับต่างๆ ทั้ง 15 อันดับ
– กำหนดกรอบตัวชี้วัดระดับการอ่าน โดยยึดกรอบ อ่านออก อ่านคล่อง อ่านเป็น เป็นหลัก
– กำหนดวิธีดำเนินการ โดยยึดกรอบกิจกรรมการฝึก การทดสอบ และการอ่านอิสระเป็นหลัก
– กำหนดกรอบโครงสร้างแบบฝึกและการอ่านอิสระให้เหมาะสมกับความยากง่ายในแต่ละอันดับขั้น แล้วสร้างแบบฝึกจำนวน 5 แบบฝึกในแต่ละอันดับขั้น ในการอ่านอิสระกำหนดประเภทหนังสือและจำนวนเล่มที่ต้องอ่านในแต่ละอันดับขั้นให้เหมาะสม
– กำหนดโครงสร้างตัวชี้วัดในแต่ละอันดับขั้น โดยใช้คำอธิบายคุณภาพการอ่านที่กำหนดในกรอบตัวชี้วัดการอ่านเป็นหลัก
– กำหนดวิธีการฝึก โดยใช้หลักการของการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน (Brain Base Leanlng) เป็นกอบแนวคิดในการฝึก
– กำหนดวิธีวัดประเมินผล โดยอาศัยกรอบตัวชี้วัด และวิธีการฝึกมาสร้างแบบประเมินและแนวปฏิบัติของครูผู้ประเมินในอันดับขั้นต่างๆ ให้สอดคล่องกับคำอธิบายคุณภาพการอ่าน
2.3 ดำเนินการฝึก โดยจัดช่วงระยะเวลาให้ฝึกวันอังคาร ตอนเช้าเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ทุกคนพบครูประจำอันดับขั้น ฝึกตามวิธีการที่กำหนด แล้วทดสอบการอ่านแต่ละแบบฝึก ครูประเมินแล้วบันทึกผล ในช่วงระยะเวลาดำเนินการฝึก นักเรียนสามารถเลือกหนังสือและอ่านอิสระตามที่กำหนด
2.4 เมื่อฝึกจนครบทั้ง 5 แบบฝึก นักเรียนทดสอบการอ่าน โดยใช้แบบทดสอบที่สร้างขึ้นให้ครูประเมินตามตัวชี้วัดที่กำหนด ครูบันทึกผล
2.5 นักเรียนอ่านอิสระนำหนังสือที่อ่านอิสระมาแสดง ครูประเมินระดับคุณภาพของหนังสือ ครูทดสอบ ซักถาม สัมภาษณ์ หรือให้เขียนสื่อความเรื่องราวในหนังสือตามที่กำหนด ครูประเมินผลแล้วบันทึก
2.6 ครูคิดคะแนนเฉลี่ย ตัดสินการผ่านอันดับขั้น ครูอาจให้แก้ตัวใหม่ในตัวชี้วัดที่ไม่ผ่าน
– มอบเกียรติบัตร และบันทึกชื่อส่งต่ออันดับขั้นถัดไป
2.7 ในระหว่างฝึกนักเรียนสามารถทดสอบผ่านอันดับขั้นได้ โดยต้องมีการอ่านแบบฝึกทั้ง 5 แบบฝึก ประเมินการอ่าน และอ่านอิสระให้ผ่านเกณฑ์ตามที่กำหนด
3. ผลสำเร็จ
3.1 นักเรียนทุกคนตั้งแต่ชั้น ป.1 – ม. 3 ได้รับการพัฒนาการอ่านตามอันดับขั้น ความท้าทายให้ตนเองประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง
3.2 นักเรียนที่ผ่านถึงอันดับที่ 15 จะมีทักษะการอ่านดีมาก รักการอ่าน รักการแสวงหาความรู้ ใช้การอ่านเป็นเครื่องมือในการพัฒนาความคิด สติปัญญาอย่างต่อเนื่อง
3.3 ในแต่ละรอบพัฒนา ซึ่งกำหนดให้มีการพัฒนา 1 ปีการศึกษา มีนักเรียนผ่านอันดับขั้นที่สูงขึ้นในระดับที่น่าพอใจ และมีการผ่านอันดับขั้นในปริมาณที่สูงขึ้นทุกปี
3.4 เกิดความตื่นตัวในเรื่องการอ่านอย่างกว้างขวางทั้งระบบ ทั้งครูและนักเรียนให้ความสำคัญต่อการอ่านมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีการพัฒนากิจกรรม องค์ความรู้และเทคนิควิธีต่อเนื่องตลอดมา
4. ปัจจัยเกื้อหนุนที่นำไปสู่ความสำเร็จ
4.1 ความตระหนักของผู้เกี่ยวข้องทุกคน อันได้แก่ ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง และตัวนักเรียนในเรื่องความสำคัญของการอ่าน วิกฤตการณ์ด้านการอ่านของเด็กและเยาวชน มองเห็นปัญหาและแนวทางและแนวทางในการพัฒนาทักษะการอ่านของเด็กและเยาวชนอย่างแท้จริง และดำเนินการอย่างจริงจังเป็นระบบเพื่อพัฒนาทักษะการอ่านสร้างนิสัยรักการอ่านเกิดมีกับเด็กทุกคน
4.2 แหล่งเรียนรู้ต่างๆ ได้แก่ ห้องสมุด ร้านหนังสือ สื่อต่างๆ จะต้องเป็นสิ่งที่เด็กทุกคนเข้าถึง ได้ง่าย สะดวก น่าสนใจ ราคาถูก และครู ผู้ปกครอง ต้องจัดให้เด็กมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เหล่านี้บ่อย ๆ
5. แนวทางพัฒนาที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และการพัฒนาในอนาคต
5.1 การดำเนินการกระตุ้นส่งเสริมนักเรียนบางคนที่ไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนาตนเอง
– การแจ้งผลการประเมินให้ผู้ปกครองทราบ
– การติดตามการศึกษา และดูแลเด็กเป็นรายบุคคลของครู
– การลดอันดับขั้น
– การกำหนดทักษะการอ่านเป็นเงื่อนไขของการเลื่อนชั้นเรียนหรือจบช่วงชั้น
5.2 การพัฒนา ระบบ เครื่องมือ และการวัดประเมินผล
– การนำแบบฝึกให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจ และปรับปรุงให้เหมาะสมกับอันดับขั้น
– การพัฒนากระบวนการฝึก ให้เกิดผลดียิ่งขึ้น
– การปรับปรุงตัวชี้วัดให้เหมาะสม
5.3 การพัฒนาครูผู้ควบคุมการฝึกและการประเมินผล
– นิเทศ กำกับ ติดตาม ให้ครูผู้ฝึกได้ฝึกอย่างจริงจังตามขั้นตอนกระบวนการที่กำหนด
– ปรับเจตคติ วิธีคิด และความรู้สึกของครูที่มีต่อนักเรียนทุกคน โดนมุ่งให้นักเรียนประสบความสำเร็จตามเกณฑ์ในแต่ละอันดับขั้น
– เพิ่มพูนองค์ความรู้ของครู ในด้าน การตั้งคำถาม การสัมภาษณ์ การประเมินค่าคะแนนที่นักเรียนตอบ ให้ศึกษาตัวชี้วัดให้เข้าใจเพื่อการประเมิน การให้ค่าระดับคุณภาพ การตัดสินผ่าน ไม่ผ่าน ตามอันดับขั้นต่าง ๆ ให้เป็นไปในทิศทางและมาตรฐานเดียวกัน