อาชีพเกษตรอินทรีย์เพื่อชีวีที่พอเพียง คู่เคียงระบบสหกรณ์
ชื่อเรื่อง “อาชีพเกษตรอินทรีย์เพื่อชีวีที่พอเพียง คู่เคียงระบบสหกรณ์”
– สอดคล้องกับกิจกรรมโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.)
ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านที่ 3 ด้านอาชีพ
บทคัดย่อ
จากการศึกษาพบว่า การประกอบอาชีพเกษตรที่ผ่านมา ทำให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลงจนถึงขาดแคลน ระบบนิเวศเสียสมดุล แหล่งอาหารทางธรรมชาติลดลง หรือแม้กระทั่งมีสารเคมีตกค้างและปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารจนเป็นอันตรายถึงชีวิต วิถีการดำรงชีวิตพร้อมกับวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่ดีงามของท้องถิ่นถูกทำลายจนเกือบหมดไป โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อเด็กและเยาวชนทุกคนมีความรู้และทักษะพื้นฐานทางการเกษตรยั่งยืนในการผลิตอาหารเพื่อการบริโภค และทางด้านอาชีพที่จำเป็นในการดำรงชีวิต 2) นักเรียนรู้จักใช้เวลาว่างในการทำงาน และ มีรายได้ระหว่างเรียนอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ 3) นักเรียนมีความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ ในการพัฒนาการเรียนรู้ไปสู่งานอาชีพ
4) เด็กและเยาวชนทุกคนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามหลักการและอุดมการณ์สหกรณ์ โดยใช้หลักการมีส่วนร่วม โรงเรียนเป็นฐาน (S.B.M.) และใช้หลักธรรมาภิบาล ในการบริหารจัดการ โดยใช้เทคนิคกระบวนการ P D C A ขั้นที่ 1 การวางแผน (Plan) ขั้นที่ 2 การปฏิบัติตามแผน (Do) ขั้นที่ 3 การตรวจสอบการปฏิบัติตามแผน (Check) ขั้นที่ 4 การปรับปรุงแก้ไข (Act)
รูปแบบการดำเนินการด้านการเกษตร ฝึกงานอาชีพการเกษตรอินทรีย์ มี “4 ไม่”
คือ“ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี”“ไม่ใช้สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช” “ไม่ใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช” และไม่ใช้ฮอร์โมนกระตุ้นความเจริญเติบโตของพืช เน้นการใช้อินทรีย์วัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด และ ปุ๋ยชีวภาพในการปรับปรุงบำรุงให้มีความอุดมสมบูรณ์ ป้องกันศัตรูพืช โดยใช้สารสกัดธรรมชาติ เช่น สะเดา ข่า ตะไคร้ ยาสูบ โล่ตี้น และพืชสมุนไพรอื่น ๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่น ผลผลิตทางการเกษตรจากฟาร์มของโรงเรียน เช่น ปลาดุก ไข่ไก่ ผักกาด ฯลฯ หรือบางส่วนก็นำไปแปรรูปอาหารจำหน่ายผ่านร้านสหกรณ์ได้ เช่น การทำปลาตากแห้ง ปลาแดดเดียว ปลาร้า ไข่เค็ม ผักกาดดอง หน่อไม้ดอง ฯลฯ ให้แก่โรงครัว (อาหารกลางวัน) ที่เหลือจำหน่ายให้กับผู้ปกครอง และชุมชน
จัดกิจกรรมสำคัญอยู่ 3 ประการ คือ 1) กิจกรรมสหกรณ์ร้านค้า จำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ด เครื่องดื่ม ขนม อุปกรณ์ เครื่องเขียนแบบเรียน และรับซื้อผลิตผล อันมาจากกิจกรรมการเรียนรู้ และระดมทุน และ/หรือ กู้ยืมจากสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์หรือสินค้ามาจำหน่าย รวมถึงสินค้าจากชุมชน หรือท้องถิ่น 2) กิจกรรมสหกรณ์ออมทรัพย์ 3) กิจกรรมการสร้างผลผลิต โดยมีกิจกรรมหนึ่งเป็นแกน การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนสหกรณ์โดยการปฏิบัติจริง นอกจากจะเป็นการฝึกทักษะการเรียนรู้ระบบสหกรณ์แล้ว ยังส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตย และฐานะทางเศรษฐกิจอีกทางหนึ่งด้วยเพื่อให้ผู้เรียนได้มีความรับผิดชอบ มีนิสัยไม่ฟุ่มเฟือยรู้จักการประหยัดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
2.ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
“…ส่วนใหญ่จัดเป็นสหกรณ์ร้านค้าและสหกรณ์ออมทรัพย์ มีร้านค้าขายของใช้จำเป็น ข้าพเจ้าคิดว่าถ้าจะซื้อของมาใช้ในโรงเรียน ก็ให้ซื้อผ่านสหกรณ์ ก็จะได้เป็นราคาขายส่ง ในการที่ จะขายสินค้าต่างๆ แม้แต่ขายของจากแปลงเกษตรเข้าโรงครัวก็ให้ผ่านสหกรณ์ การที่จะร่วมมือกันหาตลาดผลิตภัณฑ์ก็ต้องให้กรรมการสหกรณ์รับทราบ การฝึกหัดเด็กนักเรียนในเรื่องสหกรณ์ ทำให้เด็กได้ฝึกหัดทักษะหลายอย่าง คือ หัดมาประชุมกัน ใช้เหตุผลโต้เถียงกัน อันเป็นการฝึกหัดการอยู่ในสังคมประชาธิปไตยเมื่อประชุมก็ให้มีการจดบันทึกการประชุม เป็นการฝึกหัดเขียนหนังสือ ฝึกหัดขาย เมื่อขายก็ต้องรู้จักการทำบัญชี ซึ่งก็เป็นอีกวิชาหนึ่ง…บางครั้งกิจการร้านค้าสหกรณ์เจริญรุ่งเรืองมาก เด็กนักเรียนและครูพากันไปขายของ ทำให้ละเลยเรื่องการเรียนการสอน ก็ต้องเตือนกัน…”
(จากหนังสือ พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เกี่ยวกับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน)
พื้นฐานดั้งเดิมของสังคมไทยคือเกษตรกรรม และถือว่าเป็นอาชีพหลักของประชาชนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท พื้นที่ทุรกันดารห่างไกล การเกษตรจึงเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตที่ดีงาม แต่การพัฒนาที่ผ่านมาส่งผลทำให้เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่มีทักษะและความชำนาญทางการเกษตรลดลง
มีทัศนคติว่าเป็นงานหนักเหน็ดเหนื่อย รายได้ไม่คุ้มการลงทุน ทำให้ขาดความสนใจในงานการเกษตร
นอกจากนี้การทำเกษตรที่ผ่านมา ทำให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลงจนถึงขาดแคลน ระบบนิเวศเสียสมดุล แหล่งอาหารทางธรรมชาติลดลง หรือแม้กระทั่งมีสารเคมีตกค้างและปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารจนเป็นอันตรายถึงชีวิต วิถีการดำรงชีวิตพร้อมกับวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่ดีงามของท้องถิ่นถูกทำลายจนเกือบหมดไป สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯสยามบรมราชกุมารี ทรงเห็นถึงความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนทั้งด้านความรู้ และทักษะทางการเกษตร ตลอดจนการปลูกฝังทัศนคติที่ดี มีความอดทน เห็นคุณค่าของการทำงานเกษตร ความรู้ที่ได้สามารถนำไปใช้ในการผลิตอาหารสำหรับบริโภคในครัวเรือน ซึ่งเป็นการช่วยลดรายจ่ายของครัวเรือนได้
เกษตรอินทรีย์ คือ ระบบการผลิตที่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมรักษาสมดุลของธรรมชาติและความหลากหลายของ ทางชีวภาพโดยมีระบบการจัดการนิเวศวิทยา ที่คล้ายคลึงกับธรรมชาติ และหลีกเลี่ยงการใช้สารสังเคราะห์ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและฮอร์โมนต่าง ๆ ตลอดจนไม่ใช้พืชหรือสัตว์ที่เกิดจากการตัดต่อทางพันธุกรรมที่อาจเกิดมลพิษใน สภาพแวดล้อม เน้นการใช้อินทรีย์วัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด และ ปุ๋ยชีวภาพในการปรับปรุงบำรุงให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้ต้นพืชมีความแข็งแรงสามารถ ต้านทานโรคและแมลงด้วยตนเอง รวมถึงการนำเอา ภูมิปัญญาชาวบ้านมาใช้ประโยชน์ด้วย ผลผลิตที่ได้จะปลอดภัยจากสารพิษตกค้างทำให้ปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค และไม่ทำให้สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมอีกด้วย (กรมวิชาการเกษตร)
เกษตรอินทรีย์ คือ การทำการเกษตรที่เลียนแบบธรรมชาติ เป็นการทำการเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมีใด ๆ หัวใจของการทำการเกษตรอินทรีย์อยู่ที่ดิน กระบวนการปรับปรุงดินที่ตายแล้วคืนสู่ดินมีชีวิต จะไม่มีความยากลำบากใด ๆ เลยต่อเกษตรกรที่มีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะเปลี่ยนจากเกษตรกรรมอันมืดมน มาสู่เกษตรกรรมที่รุ่งเรือง ก้าวหน้า และมีสุขภาพพลานามัย หรือคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีชีวภาพ ทำให้การเปลี่ยนแปลงตามปกติ เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด เมื่อปฏิบัติไปได้สักระยะหนึ่ง เมื่อดินได้ถูกปรับสภาพแล้ว ผลผลิตของเกษตรอินทรีย์จะผิดไปจากเกษตรกรรมเคมีโดยสิ้นเชิง คือ รสชาติอร่อย เก็บไว้ได้นาน น้ำหนักดี สีสวย ไร้สารพิษ ปราศจากอันตรายต่อชีวิตผู้ผลิต และผู้บริโภค ผลไม้บางชนิด และหลายชนิด เมื่อดินถูกปรับสภาพจะทำให้ผลผลิตดกตลอดปี เศรษฐกิจดีกว่าเก่า ปัญหาโรคแมลงศัตรูพืชจะลดลง เพราะจุลินทรีย์จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ภูมิต้านทานธรรมชาติ ใบอ่อนของพืชจะไม่ถูกทำลาย ใบแก่ที่ขาดภูมิต้านทานธรรมชาติอาจถูกทำลายจากศัตรูพืชบ้าง เป็นระบบการเกษตรที่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีในการปรับปรุงบำรุงดิน ไม่ใช้สารเคมีในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ไม่ใช้สารเคมีในการกำจัดวัชพืช ตลอดจนไม่ใช้ฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์ ระบบนี้เน้นการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินและของชีวภาพ คือดินที่มีจุลินทรีย์ และสิ่งที่มีชีวิตเล็ก ๆ ในดินที่เป็นประโยชน์ในปริมาณที่มาก
เกษตรอินทรีย์มี “4 ไม่” คือ“ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี”“ไม่ใช้สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช” “ไม่ใช้
สารเคมีกำจัดวัชพืช” และไม่ใช้ฮอร์โมนกระตุ้นความเจริญเติบโตของพืช
สหกรณ์ร้านค้าในโรงเรียนนั้นมีหลักการสำคัญที่โรงเรียนจัดขึ้นโดยมุ่งหวังให้นักเรียนได้รับความรู้จากประสบการณ์ตรงขั้นพื้นฐานในด้านกิจกรรมสหกรณ์ ซึ่งจะเป็นจุดเชื่อมโยงไปสัมพันธ์กับกลุ่มเกษตรกรของชุมชน ซึ่งนักเรียนจะได้เข้าร่วมต่อไปในอนาคต อีกทั้งยังมุ่งเน้นความเสมอภาคและปลูกฝังอุดมการณ์สหกรณ์ซึ่งกันและกัน ซึงกิจกรรมสหกรณ์ยังเป็นการปูพื้นฐานระบอบประชาธิปไตยได้เป็นอย่างดี เพราะระบบสหกรณ์เป็นระบบที่สมาชิกต้องร่วมกันทำ ร่วมกันคิด ร่วมกันแก้ปัญหา
และมอบความไว้วางใจให้ตัวแทนเข้าร่วมดำเนินการแทนตนซึ่งเป็นหลักการสำคัญของ ระบบประชาธิปไตยเป็นอย่างดียิ่งที่นักเรียนจะได้รับจากิจกรรมสหกรณ์ทั้งสิ้น
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดจุดเน้นสำคัญไว้ใน กลยุทธ์ที่2 ปลูกฝังคุณธรรม ความสำนึกในความเป็นชาติไทย และวิถีชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นกรอบแนวทางให้สถานศึกษาใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนสู่สถานศึกษา ซึ่งมีระบบการกำกับติดตามการดำเนินงานชัดเจนในคำรับรองการปฏิบัติราชการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ได้กำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนไว้ จำนวน 8 ข้อ ข้อที่ 6 คือ “มุ่งมั่นในการทำงาน”ตั้งใจและรับผิดชอบในหน้าที่การงาน ทำงานด้วยเพียงพยายามและอดทนเพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมาย
โรงเรียนบ้านโคกป่ากุง เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองบัวลำภู เขต 1 ตั้งอยู่ที่ หมู่ 2 ตำบลหนองเรือ อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู มีเนื้อที่ 26 ไร่ 2 งาน ปัจจุบันจัดการเรียนการสอนในระดับชั้นอนุบาล 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และได้เข้าร่วมเป็นโรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ปีการศึกษา 2535 ได้สำนึกในพระเมตตาที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “พระมิ่งขวัญการประถมศึกษา” ทรงห่วงใยเด็กนักเรียนอย่างถ้วนหน้า จึงได้น้อมนำพระราชกระแสและพระราชดำรัสที่ทรงคุณค่ามาเป็นแนวทางในการดำเนินงานที่จะพัฒนาและได้ดำเนินกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ 6 วัตถุประสงค์ 7 กิจกรรมของโครงการ จนถึงปัจจุบัน ประกอบด้วย
จากความสำคัญที่กล่าวมาข้างต้นโรงเรียนบ้านโคกป่ากุง ได้เล็งเห็นความสำคัญของการจัดการศึกษาในโรงเรียน และดำเนินงานตามกลยุทธ์ของโรงเรียน จัดกิจกรรมการเรียนการสอนทั้งทางวิชาการและวิชาชีพ อย่างบูรณาการ และ พัฒนาแหล่งเรียนรู้และสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้เพื่อ ยกระดับคุณภาพของนักเรียนสู่ความเป็นสากล และส่งเสริมให้นักเรียนได้ฝึกทักษะอาชีพในโรงเรียน ตาม โครงการส่งเสริมอาชีพเพื่อการมีรายได้ระหว่างเรียน อย่างหลากหลาย เมื่อจบการศึกษาไปแล้ว สามารถมีแนวทางในการประกอบอาชีพ มีคุณภาพชีวิตที่ดี ก้าวสู่โลกของงานอาชีพได้อย่างมีคุณภาพ