การพัฒนาและส่งเสริมการอ่าน ผ่านกระบวนการเรียนรู้ สู่เด็กเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร โดยใช้รูปแบบ READ Model
ชื่อผลงาน การพัฒนาและส่งเสริมการอ่าน ผ่านกระบวนการเรียนรู้ สู่เด็กเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร โดยใช้รูปแบบ READ Model
ด้านที่ ๒ การศึกษา
ชื่อ-สกุล ผู้เสนอผลงาน นางสาวจริยาภรณ์ รัตนประภา
โรงเรียน บ้านห้วยโก๋น สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาน่าน เขต ๒
โทรศัพท์/โทรสาร ๐๕๔-๖๙๓๕๔๓, ๐๘๕-๗๒๐๓๔๒๘ E-mail jariyaporn.jj@gmail.com
๑. บทคัดย่อ
ผลงานวิธีปฏิบัติที่ดี เรื่อง การพัฒนาและส่งเสริมการอ่าน ผ่านกระบวนการเรียนรู้ สู่เด็กเยาวชนใน
ถิ่นทุรกันดาร โดยใช้รูปแบบ READ Model ของโรงเรียนบ้านห้วยโก๋น มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้ส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน โดยใช้รูปแบบ READ Model เพื่อพัฒนาให้นักเรียนอ่านออก เขียนได้ และอ่านคล่อง เขียนคล่อง และเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับชาติ (O-NET) กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยของนักเรียนชั้น ป.๖ ให้สูงขึ้น ตามเป้าหมายและตามจุดเน้นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ปีการศึกษา ๒๕๕๘ จำนวน ๙๙ คน โดยใช้รูปแบบ READ Model ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ทั้ง ๖ กิจกรรมเด่น ได้แก่ กิจกรรมหนูน้อยนักอ่าน กิจกรรมห้องสมุดเคลื่อนที่ กิจกรรมนานาภาษาน่ารู้ กิจกรรมพี่สอนน้อง กิจกรรมสะเก็ดข่าว และกิจกรรมห้องสมุดมัลติมีเดีย ซึ่งมีผลการดำเนินงานปรากฏ ดังนี้ นักเรียนมีนิสัยรักการอ่านผ่านกิจกรรมส่งเสริมรักการอ่าน ร้อยละ ๙๗.๙๓ นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ปลอดการอ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ ร้อยละ ๑๐๐ และนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ ขึ้นไป อ่านออกระดับดีขึ้นไป ร้อยละ ๙๒.๕๙ และเขียนได้ระดับดีขึ้นไป ร้อยละ ๘๑.๔๘ นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ มีผลการทดสอบระดับชาติ O-NET กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ปีการศึกษา ๒๕๕๘ สูงกว่าปีการศึกษา ๒๕๕๗ ร้อยละ ๑๕.๑๐ และมีผลคะแนนเฉลี่ยระดับโรงเรียน(ร้อยละ๕๗.๕๐) สูงกว่าทุกระดับ ทั้งระดับเขตพื้นที่การศึกษา(ร้อยละ๕๓.๖๒) ระดับจังหวัด(ร้อยละ๕๒.๖๒) ระดับสังกัด (ร้อยละ๔๘.๓๙) และระดับประเทศ (ร้อยละ๔๙.๓๓)
๒. ความสำคัญของ “วิธีปฏิบัติที่ดี”
ตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ฉบับที่ ๔ ได้ดำเนินงานพัฒนาครอบคลุมพื้นที่ในถิ่นทุรกันดารที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาของพื้นที่สูง ภายใต้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้น้อมนำเอากิจกรรมตามโครงการในพระราชดำริ สู่การปฏิบัติเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามกระบวนการของโครงการในวัตถุประสงค์ที่ ๓ เสริมสร้างศักยภาพของเด็กและเยาวชนในการเรียนรู้ทางวิชาการ ให้มีความรู้และทักษะที่จำเป็นในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ มีความรู้ตามหลักสูตร เพื่อพัฒนายกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ช่วยเหลือนักเรียนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารให้ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีคุณภาพ พร้อมที่จะไปศึกษาต่อในระดับสูงต่อไปได้ ซึ่งส่งผลให้เด็กและเยาวชนได้รับโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมผู้อื่น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อันเป็นพระราชประสงค์สูงสุดของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
โรงเรียนบ้านห้วยโก๋น เป็นโรงเรียนที่อยู่บนพื้นที่สูงที่ทุรกันดาร ซึ่งเป็นโรงเรียนในโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ๑ ถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๓ จากสภาพปัญหาที่ผ่านมาพบว่า นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑-๖ ส่วนใหญ่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และไม่มีนิสัยรักการอ่าน เนื่องจากนักเรียนขาดทักษะการอ่าน การเขียนภาษาไทย ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการเรียนรู้ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ จึงเป็นปัญหาในการจัดการเรียนการสอนของครูผู้สอนทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ และส่งผลให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำตามไปด้วย
ดังนั้น โรงเรียนบ้านห้วยโก๋น จึงหาแนวทางในการแก้ปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ในภาพรวม
ของสถานศึกษา โดยคิดค้นหาวิธีการให้นักเรียนเป็นผู้ที่มีนิสัยรักการอ่านทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน เพื่อให้มีความสามารถด้านการฟัง พูด อ่าน เขียน และกระบวนการคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีผลสัมฤทธิ์ทาง
การเรียนสูงขึ้น
๓. วัตถุประสงค์และเป้าหมายของการดำเนินงาน
วัตถุประสงค์
๑) เพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้ส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน โดยใช้รูปแบบ READ Model
๒) เพื่อพัฒนาให้นักเรียนอ่านออก เขียนได้ และอ่านคล่อง เขียนคล่อง
๓) เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับชาติ (O-NET) กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยของนักเรียนชั้น ป.๖ ให้สูงขึ้น ตามเป้าหมายและตามจุดเน้นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
เป้าหมายเชิงปริมาณ
นักเรียนปกติทุกคนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ปีการศึกษา ๒๕๕๘ โรงเรียนบ้านห้วยโก๋น จำนวน ๙๙ คน
เป้าหมายเชิงคุณภาพ
นักเรียนอ่านออกเขียนได้ และมีนิสัยรักการอ่าน ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยสูงขึ้น ร้อยละ ๓ ตามเป้าหมายและตามจุดเน้นของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
๔. กระบวนการดำเนินงาน
๔.๑ กรอบแนวคิดของรูปแบบ READ Model
๔.๒ ขั้นตอนกระบวนการของรูปแบบ READ Model
กระบวนการ READ Model เป็นรูปแบบกระบวนการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมรักการอ่าน
โดยนำมาเชื่อมโยงให้มีความสอดคล้องเป็นวงจรเชิงระบบ ซึ่งประกอบด้วย ผู้อ่านหรือผู้เรียน (R) การศึกษา (E) ผลสำเร็จ (A) และการกำกับติดตามประเมินผล (D) โดยแต่ละขั้นตอนยังมีองค์ประกอบย่อยที่ทำให้การดำเนินการที่มีคุณภาพเชิงระบบและมีการกำกับ ติดตาม และนิเทศ โดยใช้วงจรคุณภาพของเดมมิ่ง (P D C A) และการนิเทศแบบกัลยาณมิตร อีกทั้งยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีรายละเอียดของขั้นตอน ดังต่อไปนี้
ขั้นที่ ๑ R = Readership หมายถึง ผู้อ่านหรือผู้เรียน ซึ่งให้ความสำคัญกับนักเรียนทุกคน
มุ่งเน้นให้นักเรียนทุกคนอ่านออก เป็นผู้อ่านที่ดี และมีนิสัยรักการอ่าน คณะครู บุคลากรทางการศึกษา พ่อแม่ ผู้ปกครอง ประชุมปรึกษาหารือเพื่อศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหาและสร้างความตระหนักให้กับบุคลากร
ในการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมรักการอ่าน โดยมีขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้
๑. วิเคราะห์สภาพของผู้เรียน โดยผู้บริหาร คณะครู บุคลากรทางการศึกษา พ่อแม่ ผู้ปกครอง ประชุมปรึกษาหารือเพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและปัญหา
๒. ครูคัดกรองและแบ่งผู้เรียนออกเป็น ๓ กลุ่ม คือ อ่านคล่อง อ่านได้ และอ่านไม่ออก
โดยการประเมินเบื้องต้นจากเครื่องมือการอ่าน
๓. จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละกลุ่ม
๔. ประเมินผลการปฏิบัติกิจกรรมจากสังเกตพฤติกรรมและผลงานที่เกิดขึ้นว่ามีคุณภาพหรือไม่
หากยังไม่มีคุณภาพ อาจต้องให้นักเรียนปรับเปลี่ยนกิจกรรมอื่นๆให้เหมาะสมหรือกลับไปวิเคราะห์ของผู้เรียน เพื่อจะได้จัดกิจกรรมได้อย่างเหมาะสมกับผู้เรียนได้อย่างมีคุณภาพ
ขั้นที่ ๒ E = Encourage หมายถึง การส่งเสริม การสนับสนุน และการให้กำลังใจ ซึ่งเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานต้นสังกัด สถานศึกษา และผู้ปกครอง เพื่อมุ่งส่งเสริม ให้กำลังใจ และร่วมพัฒนาความสามารถของนักเรียนในด้านการอ่าน และการเขียนภาษาไทย ซึ่งเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ให้มีคุณภาพ รวมทั้งเป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่และหลากหลายตามกิจกรรมที่จัดขึ้น โดยได้ดำเนินการจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ดังนี้
๑. กิจกรรมหนูน้อยนักอ่าน เป็นกิจกรรมที่ฝึกนิสัยรักการอ่านและสรุปความรู้ที่ได้จากเรื่องที่อ่าน
โดยทำเป็นแผนภาพความคิด แผนภาพโครงเรื่อง หนังสือเล่มเล็ก หนังสือทำมือ ฯลฯ โดยมีเป้าหมาย คือ ผู้เรียนสามารถอ่านได้มากที่สุดจะได้รับรางวัลพิเศษ “ยอดนักอ่านประจำเดือน”
๒. กิจกรรมห้องสมุดเคลื่อนที่ เป็นกิจกรรมที่ฝึกการศึกษาค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ซึ่งเป็นการบริการนำหนังสือจากห้องสมุดไปไว้ตามแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ในบริเวณโรงเรียน เพื่อให้สะดวกต่อการใช้บริการของนักเรียน แล้วนำมาสรุปเป็นใจความสำคัญด้วยภาษาของตนเอง
๓. กิจกรรมนานาภาษาน่ารู้ เป็นกิจกรรมที่ฝึกให้นักเรียนได้ค้นหาและคัดเลือกคำศัพท์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ และนำเสนอให้ผู้อื่นรับทราบ
๔. กิจกรรมพี่สอนน้อง เป็นกิจกรรมที่พี่สอนน้องอ่านหนังสือและอ่านนิทานให้น้องฟังในช่วงเวลาว่าง หลังเลิกเรียนทุกวัน
๕. กิจกรรมสะเก็ดข่าว เป็นกิจกรรมเสียงตามสายที่ฝึกการพูดจากการสรุปใจความสำคัญจากการอ่านข่าวหรือสถานการณ์ประจำวันที่สนใจ จากหนังสือพิมพ์ ฟังหรือดูข่าวจากวิทยุ หรือโทรทัศน์ และให้ทักษะในการพูดให้ผู้อื่นได้รับทราบ
๖. กิจกรรมห้องสมุดมัลติมีเดีย เป็นกิจกรรมการสืบค้นข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตได้อย่างเหมาะสม เพื่อใช้ประกอบการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ ในช่วงเวลาก่อนกิจกรรมเข้าแถวเคารพธงชาติ พักกลางวัน และหลังเลิกเรียนทุกวัน และมีการบันทึกข้อมูลลงในแบบบันทึกกิจกรรม
โดย ๖ กิจกรรมเด่น มีขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้
๑. ประชุมครูเพื่อแต่งตั้งครูผู้รับผิดชอบกิจกรรม
๒. ครูผู้รับผิดชอบประชุมวางแผนในการดำเนินการตามแผน
๓. ดำเนินการตามกิจกรรม
๔. นิเทศ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินกิจกรรม โดยให้ผู้บริหาร คณะครู ผู้เรียน และผู้ปกครอง
มีส่วนร่วมในการประเมินความพึงพอใจในการปฏิบัติกิจกรรม และครูผู้รับผิดชอบกิจกรรมสังเกตพฤติกรรมการ
เข้าร่วมกิจกรรมของผู้เรียน
๕. สรุปผลการดำเนินงานกิจกรรม และนำผลการประเมินมาปรับปรุงแก้ไขในการดำเนินกิจกรรมต่อไป
๖. รายงานผลการดำเนินกิจกรรม
ขั้นที่ ๓ A = Achievement หมายถึง ผลสำเร็จ ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่สามารถอ่านได้ในระดับดี
ทุกชั้นเรียน จากผลการทดสอบของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาน่าน เขต ๒ พบว่า นักเรียนของโรงเรียนบ้านห้วยโก๋น อ่านออก เขียนได้ ทุกระดับชั้น มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยสูงขึ้น ทั้งระดับชาติและระดับสถานศึกษา รวมทั้งยังได้รับรางวัลในระดับต่างๆ โดยมีขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้
๑. นักเรียนสามารถนำความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติกิจกรรมไปประยุกต์ใช้ในกิจกรรมการเรียนรู้ของ
ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ได้ และมีผลงานที่มีคุณภาพ
๒. ครูผู้รับผิดชอบนำเครื่องมือประเมินการอ่านของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาน่าน เขต ๒ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มาประเมินผู้เรียน
๓. นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยสูงขึ้น ทั้งระดับชาติและระดับสถานศึกษา รวมทั้งยังได้รับรางวัลในระดับต่างๆ
ขั้นที่ ๔ D = Direction หมายถึง การกำกับ ติดตาม และประเมินผล ซึ่งเป็นการประเมินผล
เพื่อการปรับปรุงและพัฒนาให้ภาระงานที่ทีมงานดำเนินการอยู่มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลสูงสุด โดยอาศัยหลักการและกระบวนการของระบบวงจรคุณภาพ P-D-C-A (Deming Circle) และกระบวนการนิเทศ (Supervision) โดยใช้หลักการการนิเทศแบบกัลยาณมิตรอย่างใกล้ชิดและสร้างเครือข่าย รวมทั้งมีการประเมินผลการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว สู่การพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง
๕. ผลการดำเนินงาน
จากกระบวนการดำเนินงานในการพัฒนาผู้เรียนของโรงเรียนบ้านห้วยโก๋น มีผลปรากฏดังนี้
๑. นักเรียนมีนิสัยรักการอ่านผ่านกิจกรรมส่งเสริมรักการอ่าน โดยประเมินจากสถิติการใช้ห้องสมุด
ร้อยละ ๙๘.๐๙ และร้อยละ ๙๘.๑๕ มีผลการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ร้อยละ ๙๗.๕๒ และร้อยละ๙๗.๙๓ และประเมินความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ระดับดีมาก ร้อยละ ๘๗.๕๘ และ ร้อยละ ๘๘.๓๓ ในปีการศึกษา ๒๕๕๗ – ๒๕๕๘ ตามลำดับ
๒. นักเรียนปกติระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ปลอดการอ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ ร้อยละ ๑๐๐ และนักเรียนปกติระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ ขึ้นไป อ่านออกระดับดีขึ้นไป ร้อยละ ๙๒.๕๙ และเขียนได้ระดับดีขึ้นไป ร้อยละ ๘๑.๔๘ ในปีการศึกษา ๒๕๕๘ จากผลการประเมินนักเรียนระดับชั้น ป.๑-๖ อ่านออกเขียนได้ส่งผลให้ได้รับเกียรติบัตรประกาศยกย่องในที่ประชุมผู้บริหารสถานศึกษา ของ สพป.น่าน เขต ๒
๓. นักเรียนปกติระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ มีผลการทดสอบระดับชาติ O-NET กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ปีการศึกษา ๒๕๕๘ สูงกว่าปีการศึกษา ๒๕๕๗ ร้อยละ๑๕.๑๐ และมีผลคะแนนเฉลี่ยระดับโรงเรียน(ร้อยละ๕๗.๕๐) สูงกว่าระดับเขตพื้นที่การศึกษา(ร้อยละ๕๓.๖๒) ระดับจังหวัด(ร้อยละ๕๒.๖๒) ระดับสังกัด (ร้อยละ๔๘.๓๙) และระดับประเทศ (ร้อยละ๔๙.๓๓) ดังตารางแสดงผลดังกล่าว
๔. นักเรียนปกติระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ มีผลการทดสอบระดับชาติ O-NET คะแนนเฉลี่ยระดับ
โรงเรียน(ร้อยละ๔๕.๓๖) สูงกว่าระดับเขตพื้นที่การศึกษา(ร้อยละ๔๒.๘๐) ระดับจังหวัด(ร้อยละ๔๔.๐๔)
ระดับสังกัด (ร้อยละ๔๒.๘๙) และระดับประเทศ(ร้อยละ๔๒.๖๔)
๖. ประโยชน์ที่ได้รับและการเผยแพร่
๖.๑ ประโยชน์ที่ได้รับ
๑. นักเรียนปกติระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ มีความรู้ และทักษะที่จำเป็น
ในการเรียนรู้ ส่งผลให้มีผลการทดสอบระดับชาติ O-NET กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สูงขึ้น
๒. นักเรียนปกติทุกคน สามารถอ่านออก เขียนได้ และอ่านคล่อง เขียนคล่อง โดยครูผู้สอนใช้เทคนิคกระบวนการเรียนรู้อย่างหลากหลาย ทั้งในและนอกสถานศึกษา
๓. นักเรียนทุกระดับชั้นมีความรู้ และทักษะที่จำเป็นในการเรียนรู้ ส่งผลให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้สูงขึ้น
๖.๒ การเผยแพร่/การได้รับการยอมรับ/และความภาคภูมิใจ
๖.๒.๑ การเผยแพร่
โรงเรียนบ้านห้วยโก๋นได้เผยแพร่และขยายเครือข่ายการดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมการอ่านผ่านกระบวนการต่างๆ ดังนี้
๑. ได้ขยายเครือข่ายกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้กับโรงเรียนในอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จนได้รับคัดเลือกจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาน่าน เขต ๒ ให้เป็น “ศูนย์เครือข่ายโครงการนิสัยรักการอ่านและพัฒนาห้องสมุดโรงเรียนประจำอำเภอเฉลิมพระเกียรติ” ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๕ จนถึงปัจจุบัน
๒. ได้เผยแพร่กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ในงานนิทรรศการและงานประชุมอบรมสัมมนาต่างๆ ทั้งในระดับเครือข่ายกลุ่มโรงเรียน ระดับอำเภอ ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ระดับจังหวัด ระดับภาค และประเทศ
๓. ได้เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของโรงเรียน www.hks.ac.th เพจของโรงเรียน คือ โรงเรียนบ้านห้วยโก๋น สพป.น่าน ๒ และเว็ปไซต์ของ สพป.น่าน เขต ๒
ทั้งนี้ จึงได้รับการยอมรับ ชมเชย และให้กำลังใจจากผู้เข้าเยี่ยมชมจากเพื่อนครู ผู้บริหาร ผู้ปกครองนักเรียน ชุมชน สาธารณชน โรงเรียนในเขตพื้นที่และต่างเขตพื้นที่ หน่วยงานต้นสังกัด และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนส่งเสริมในการจัดกิจกรรมต่างๆจากนายวรภัทร ธนะวัง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยโก๋น นางสุภาพ รัตนประภา นางสดศรี สุทธการ และนางสาวสุพรรณิการ์ สุทธหลวง ศึกษานิเทศก์กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยและประจำเครือข่ายกลุ่มโรงเรียน สพป.น่าน เขต ๒ รวมทั้งคณะครู บุคลากร และผู้ปกครองที่มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมนี้
๖.๒.๒ การได้รับการยอมรับ/และความภาคภูมิใจ
ผลงานจากการพัฒนาผู้เรียน
๑) นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ปีการศึกษา ๒๕๕๘ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เป็นอันดับที่ ๑
จากผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ (O-NET) ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๕.๑๐ และมีผลคะแนนเฉลี่ยระดับโรงเรียนสูงกว่าระดับเขตพื้นที่และระดับประเทศ
๒) นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ปีการศึกษา ๒๕๕๗ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เป็นอันดับที่ ๑ จากผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ (O-NET)
๓) จัดกิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โดยใช้เทคนิคและกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายทั้งใน
ชั้นเรียนและสอนซ่อมเสริม ส่งผลให้ “นางสาวนฤพร พะยอม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓” ทำคะแนนสูงสุดได้คะแนนร้อยละ ๗๑.๙๐ ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ในการทดสอบระดับชาติ O-NET
๔) ได้รับรางวัลระดับเหรียญทอง รองชนะเลิศอันดับที่ ๒ ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ปีการศึกษา ๒๕๕๗-๒๕๕๘
การแข่งขันกิจกรรมการประกวดหนังสือเล่มเล็ก ชั้น ม.๑-๓
๕) ได้รับรางวัลระดับเหรียญทอง ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ปีการศึกษา ๒๕๕๗ การแข่งขันกิจกรรมการประกวดหนังสือเล่มเล็ก ชั้น ป.๔-๖
๖) ได้รับรางวัลระดับเหรียญทอง ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ปีการศึกษา ๒๕๕๙ การแข่งขันกิจกรรมการเขียนเรียงความ และท่องอาขยาน
๗) ได้รับรางวัลระดับเหรียญทอง ระดับเขตพื้นที่การศึกษา ปีการศึกษา ๒๕๕๗ – ๒๕๕๘ การแข่งขันกิจกรรมการแข่งขันวันภาษาไทยแห่งชาติ
๖) นักเรียนได้รับรางวัล “นักเรียนรักการอ่าน” ระดับดีมาก ตามโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านและพัฒนาห้องสมุดโรงเรียนตลอดปีการศึกษา
ผลงานจากการพัฒนานวัตกรรม
จากการที่ข้าพเจ้าได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผ่านมา พบว่า มีปัญหาของผู้เรียนหลายประการ เช่น
ขาดแคลนสื่อการเรียนรู้ นักเรียนไม่มีอยากเรียน ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงได้สร้างนวัตกรรม/สื่อการเรียนรู้ต่างๆ และพัฒนารูปแบบ READ Model ขึ้น เพื่อนำไปใช้อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน ดังนี้
๑) ได้ผลิตสื่อประกอบการเรียนรู้จากวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเป็น
การกระตุ้นความสนใจแก่ผู้เรียนเป็นอย่างดี
๒) ได้ผลิตสื่อการเรียนรู้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและน่าสนใจ มาประกอบการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียน
เกิดการเรียนรู้ได้อย่างหลากหลาย โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนเกิดความรู้และฝึกปฏิบัติค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง
ผลงานจากการพัฒนาโรงเรียน
๑) ผลงานวิชาการของโรงเรียนบ้านห้วยโก๋น ให้ได้รับการคัดเลือกเป็นอันดับ ๓ ระดับประเทศ
เกี่ยวกับผลงานวิชาการ “แนวปฏิบัติที่ดี” ด้านการศึกษา ของโรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพ-รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปี พ.ศ.2558
2) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นครูวิชาการของกลุ่มเครือข่ายโรงเรียน รวมทั้งเป็นคณะกรรมการประสานงานระดับกลุ่มเครือข่ายโรงเรียนห้วยโก๋น ของ สพป.น่าน เขต ๒ และโรงเรียนได้รับคัดเลือกให้เป็น “ศูนย์อาเซียนศึกษาประจำเขตพื้นที่การศึกษา”
3) โรงเรียนผ่านการประเมินและได้รับ “รางวัลส่งเสริมนิสัยรักการอ่านและพัฒนาห้องสมุดดีเด่น อันดับที่ ๑” ระดับศูนย์เครือข่ายโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านและพัฒนาห้องสมุดโรงเรียนประจำอำเภอเฉลิมพระเกียรติ
๗. ปัจจัยความสำเร็จ
ข้าพเจ้าและครูผู้สอนมีความรู้ เทคนิคกระบวนการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
อย่างหลากหลาย และดำเนินการตามขั้นตอนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ ซึ่งได้รับการพัฒนาตนเองและสนับสนุนส่งเสริมจากผู้บริหารโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ และหน่วยงานต้นสังกัด ดังเช่นการอบรมสัมมนา การศึกษาดูงาน การเป็นวิทยากร และการเป็นคณะทำงานของหน่วยงานต้นสังกัด ทั้งของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาน่าน เขต ๒ และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๖ จนถึงปัจจุบัน จึงนำความรู้ เทคนิคการสอน และประสบการณ์ต่างๆที่ได้จากการพัฒนาตนเอง มาประยุกต์ใช้และ
บูรณาการในการจัดการเรียนรู้สู่ผู้เรียนอย่างมีคุณภาพ จึงทำให้นักเรียนตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของ
การอ่าน การเขียนภาษาไทย และมีนิสัยรักการอ่าน จึงส่งผลให้ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยและ O-NET สูงขึ้น
๘. ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะ
นักเรียนมีพื้นฐานความรู้ที่แตกต่างกัน เพราะย้ายสถานศึกษาไปมาเพื่อติดตามผู้ปกครอง จึงส่งผลต่อการเรียนรู้ และยากต่อการปรับพื้นฐานความรู้ให้ใกล้เคียงกับเพื่อนร่วมชั้น โดยต้องให้เข้าร่วมกิจกรรมที่ง่ายไปหายากและวางแผนร่วมกับผู้ปกครองในการเรียนรู้ เพื่อให้ส่งผลการจัดการเรียนรู้มีคุณภาพได้
๙. แนวทางการพัฒนาต่อเนื่อง
การจัดกระบวนการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยอย่างหลากหลาย และดำเนินการตามขั้นตอนการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ โดยใช้กระบวนการ READ Model อย่างต่อเนื่อง และยั่งยืน จึงทำให้นักเรียนตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของการอ่าน การเขียนภาษาไทย สามารถอ่านออกเขียนได้ อ่านคล่อง
เขียนคล่องและมีนิสัยรักการอ่าน จึงส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยสูงขึ้น และ
ผลการทดสอบระดับชาติ O-NET สูงกว่าทุกระดับในปีการศึกษา ๒๕๕๘ และคาดว่าจะสูงขึ้นทุกปีการศึกษา