วิธีปฏิบัติที่ดี โครงการเยาวชนจิตอาสาพารักษ์ป่าน่าน
โรงเรียน มัธยมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติ
สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 37 จังหวัดแพร่ – น่าน
โทรศัพท์ 054-693533 โทรสาร 054-693533
บทคัดย่อ
แนวปฏิบัติที่ดี ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง โครงการเยาวชนจิตอาสาพารักษ์ป่าน่าน เป็นการจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ของโรงเรียนมัธยมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. เพื่อสนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ 2. เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีจิตอาสาในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ 3. เพื่อให้นักเรียนตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ 4. เพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเพิ่มพื้นที่ของป่าต้นน้ำน่านในอำเภอเฉลิมพระเกียรติ 5. เพื่อให้นักเรียนสามารถถ่ายทอดความรู้ด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และขยายผลให้กับผู้อื่นได้ กลุ่มเป้าหมายได้แก่ ครูและนักเรียนในโรงเรียนมัธยมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติ ร้อยละ 85 และนักเรียนมีจิตอาสาในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การดำเนินงานตามโครงการได้แบ่งกิจกรรมเป็น 5 กิจกรรม ดังนี้ กิจกรรมที่ 1การศึกษาแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ กิจกรรมที่ 2 1 คน 1 ต้น กิจกรรมที่ 3 หนังสั้นปลุกจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กิจกรรมที่ 4 การรณรงค์การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กิจกรรมที่ 5 สื่อหนังสือเล่มเล็กการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมานักเรียนโรงเรียนมัธยมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติได้สนองพระราชดำริ การจัดกิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้ร่วมกันสร้างจิตอาสาในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อเป็นจิตอาสาเชิญชวนให้ร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทั้งในโรงเรียนซึ่งเป็นที่ที่นักเรียนอยู่ และร่วมกันลงสู่ที่บ้านของตนเอง เพื่อมุ่งขยายผลไปยังหมู่บ้านที่ตนอยู่อาศัย ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดที่ทำเพื่อเพิ่มพื้นที่ของป่า ต้นน้ำน่านในอำเภอเฉลิมพระเกียรติ โดยมีกิจกรรมที่ดำเนินการลุล่วงไปแล้ว ดังนี้ กิจกรรมที่ 1 การศึกษาแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้วิธีการคืนต้นไม้สู่ป่าใหญ่ และการที่ชุมชนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน กิจกรรมที่ 2 1 คน 1 ต้น ทำให้นักเรียนมีต้นไม้เป็นตนเอง ร่วมกันปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับโรงเรียน นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในการปลูกต้นไม้ การดูแล การรู้จักพรรณไม้ และแนวทางการรักษาต้นไม้ให้คงอยู่ กิจกรรมที่ 3 หนังสั้นปลุกจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ นักเรียนได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น ทำให้ได้ทักษะในการทำงาน มีความรู้เกี่ยวกับการทำภาพยนตร์สั้น และสามารถถ่ายทอดสิ่งที่นักเรียนอยากแสดงออกมาในรูปแบบภาพยนตร์สั้น เพื่อสื่อสารให้ผู้ชมเข้าใจแนวคิดของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กิจกรรมที่ 4 การรณรงค์การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ นักเรียนได้ร่วมรณรงค์ให้ความรู้เรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และได้รับความสนใจ ทำให้เกิดแรงกระตุ้นในการช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กิจกรรมที่ 5 สื่อหนังสือเล่มเล็กการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จากการจัดทำสื่อหนังสือเล่มเล็ก ทำให้มีผู้สนใจเข้ามาชมผลงานของนักเรียน ทำให้เกิดแรงกระตุ้นในการจัดทำผลงานเล่มอื่น ๆ ต่อไป
ความสำคัญของวิธีปฏิบัติที่ดี
จากสถานการณ์ป่าไม้ของจังหวัดน่านในปัจจุบันที่มีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง พื้นที่โดยมากถูก แพ้วถางทำลายจากหลากหลายสาเหตุ เช่น การรุกล้ำ การเผาป่าเพื่อทำไร่ข้าวโพด ทำไร่ขิง และไม่มีการปลูกป่าเพื่อทดแทน ซึ่งในเขตพื้นที่อำเภอเฉลิมพระเกียรตินั้นนับเป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าดังกล่าว โดยสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภอเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีอากาศอบอุ่น พื้นที่ทั้งหมดตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยภูคาและป่าผาแดง ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของแม่น้ำน่าน ปัจจุบันในเขตพื้นที่นี้นับว่าเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของชาวจังหวัดน่าน ดังนั้น ทางโรงเรียนมัธยมพระราชทานเฉลิม พระเกียรติจึงได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว ทางโรงเรียนจึงต้องการปลุกจิตสำนึกเพื่อรณรงค์ให้เยาวชนในเขตพื้นที่เกิดความตระหนักในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติขึ้น จึงได้จัดตั้งแกนนำจิตอาสาของนักเรียนขึ้นตามโครงการเยาวชนจิตอาสาพารักษ์ป่าน่าน ซึ่งให้เยาวชนในเขตพื้นที่เป็นผู้สร้างจิตสำนึกการรักษาป่าในโรงเรียน และขยายผลลงสู่ชุมชนทั้งอำเภอเฉลิมพระเกียรติขึ้น ทั้งนี้การจัดทำโครงการจะทำต่อเนื่องในระยะยาว เพื่อให้นักเรียนและคนในชุมชนร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และเพื่อเป็นการช่วยเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ในเขตอำเภอเฉลิมพระเกียรติได้
วัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน
1.เพื่อสนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้
2.เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีจิตอาสาในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
3.เพื่อให้นักเรียนตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
4.เพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเพิ่มพื้นที่ของป่าต้นน้ำน่านในอำเภอเฉลิมพระเกียรติ
5.เพื่อให้นักเรียนสามารถถ่ายทอดความรู้ด้านอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และขยายผลให้กับผู้อื่นได้
เป้าหมายของการดำเนินงาน
เชิงปริมาณ
ครูและนักเรียนในโรงเรียนมัธยมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติ ร้อยละ 85
เชิงคุณภาพ
นักเรียนมีจิตอาสาในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
กระบวนการดำเนินงาน
1.คณะครูประชุมวางแผนการดำเนินงานตามโครงการเยาวชนจิตอาสาพารักษ์ป่าน่าน
2.รับสมัครนักเรียนเข้าร่วมโครงการเยาวชนจิตอาสาพารักษ์ป่าน่านตามความสมัครใจ จำนวน 25 คน เพื่อเป็นนักเรียนแกนนำในโครงการเยาวชนจิตอาสาพารักษ์ป่าน่าน โดยนักเรียนที่จะสมัครเข้าร่วมโครงการต้องเป็นผู้ที่มีจิตอาสา มีความเสียสละในการทำงาน สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ และตระหนักในความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
3.คณะครูและนักเรียนแกนนำประชุมเพื่อเลือกประธานและรองประธาน “เยาวชนจิตอาสาพารักษ์ป่าน่าน” จากนักเรียนแกนนำ 25 คน จากนั้นคณะครูและนักเรียนวางแผนการดำเนินงานได้ 5 กิจกรรม
กิจกรรมที่ 1 การศึกษาแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ
คณะครูและนักเรียนแกนนำเยาวชนจิตอาสาพารักษ์ป่าน่าน ได้ศึกษาแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติจากภายนอกโรงเรียน แหล่งเรียนรู้ได้แก่ หน่วยจัดการต้นน้ำ น้ำปาด อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ในหัวข้อ “คืนต้นไม้สู่ป่าใหญ่” และ ชุมชนบ้านปิน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ในหัวข้อ “ชุมชนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน” โดยนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมได้บันทึกลงในแบบบันทึกแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ
กิจกรรมที่ 2 1 คน 1 ต้น
เยาวชนจิตอาสาพารักษ์ป่าน่าน เป็นแกนนำนักเรียนในโรงเรียนร่วมกันปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับโรงเรียน และนักเรียนทุกคนที่ร่วมกันปลูกต้นไม้ได้บันทึกลงในสมุดบันทึกกิจกรรม 1 คน 1 ต้น เพื่อบันทึกข้อมูลพื้นฐานของต้นไม้ การเจริญเติบโตของต้นไม้ และการดูแลต้นไม้ที่ตนเองปลูก
กิจกรรมที่ 3 หนังสั้นปลุกจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
หนังสั้นเรื่อง กลับใจ จัดทำขึ้นเพื่อปลุกจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ให้ผู้ที่รับชมได้ตระหนักถึงการอนุรักษ์ป่าทรัพยากรธรรมชาติ โดยขั้นตอนการถ่ายทำเริ่มจาก ทีมงานหนังสั้นซึ่งได้มาจาก แกนนำเยาวชนจิตอาสาพารักษ์ป่าน่านและนักเรียนที่สนใจ ช่วยกันคิดหัวข้อภาพยนตร์สั้น จากนั้นศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวิถีการใช้ชีวิตของชุมชนในพื้นที่ เมื่อได้หัวข้อภาพยนตร์สั้น เรื่อง กลับใจ เป็นที่เรียบร้อยแล้วหาตัวนักแสดง และวางแผนการดำเนินงาน ฉาก สถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์สั้น จากนั้นติดต่อประสานงานเจ้าของสถานที่ที่จะทำการถ่ายทำภาพยนตร์สั้นและดำเนินการถ่ายทำภาพยนตร์สั้น โดยมีนักเรียนกลุ่มเยาวชนจิตอาสาพารักษ์ป่าน่าน จำนวนหนึ่งเป็นนักแสดงถ่ายทอดแนวคิดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และแสดงให้เห็นถึงการปลุกจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ แล้วรวบรวมวีดิโอที่ถ่ายทำมาตัดต่อให้เป็นเรื่องราวให้สมบูรณ์ นำผลงานที่ได้ไปเผยแพร่ภาพยนตร์สั้นภายในโรงเรียนและสู่ชุมชน
กิจกรรมที่ 4 การรณรงค์การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
นักเรียนแกนนำเยาวชนจิตอาสาพารักษ์ป่าน่าน ได้ร่วมกับนักเรียนที่สนใจช่วยกันทำสื่อรณรงค์ให้นักเรียนในโรงเรียนและชุมชนร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยรณรงค์ให้ความรู้หน้าเสาธง เดินรณรงค์ในกิจกรรมกีฬาภายในโรงเรียน พูดรณรงค์และช่วยกันแจกแผ่นพับประชาสัมพันธ์ที่ตลาดนัดการค้าชายแดนห้วยโก๋น
กิจกรรมที่ 5 สื่อหนังสือเล่มเล็กการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
สื่อหนังสือเล่มเล็กเป็นสื่อที่นักเรียนจัดทำขึ้นเพื่อสื่อสารการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติผ่านรูปแบบหนังสือเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจและสามารถให้ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาค้นคว้าได้
ผลการดำเนินงาน
จากการดำเนินงานที่ผ่านมา นักเรียนโรงเรียนมัธยมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติได้สนองพระราชดำริ การจัดกิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้ร่วมกันสร้างจิตอาสาในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อเป็นจิตอาสาเชิญชวนให้ร่วมกันตระหนักถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทั้งในโรงเรียนซึ่งเป็นที่ที่นักเรียนอยู่ และร่วมกันลงสู่ที่บ้านของตนเอง เพื่อมุ่งขยายผลไปยังหมู่บ้านที่ตนอยู่อาศัย ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดที่ทำเพื่อเพิ่มพื้นที่ของป่า ต้นน้ำน่านในอำเภอเฉลิมพระเกียรติ โดยมีกิจกรรมที่ดำเนินการลุล่วงไปแล้ว ดังนี้
กิจกรรมที่ 1 การศึกษาแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ
นักเรียนได้เรียนรู้วิธีการคืนต้นไม้สู่ป่าใหญ่ และการปลูกป่าในใจคนโดยให้คนในชุมชนอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน
กิจกรรมที่ 2 1 คน 1 ต้น
นักเรียนมีต้นไม้เป็นตนเอง และร่วมกันปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับโรงเรียน ทำให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในการปลูกต้นไม้ การดูแล การรู้จักพรรณไม้ และแนวทางการรักษาต้นไม้ให้คงอยู่
กิจกรรมที่ 3 หนังสั้นปลุกจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
นักเรียนได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น ทำให้ได้ทักษะในการทำงาน มีความรู้เกี่ยวกับการทำภาพยนตร์สั้น และสามารถถ่ายทอดสิ่งที่นักเรียนอยากแสดง ออกมาในรูปแบบภาพยนตร์สั้น เพื่อสื่อสารให้ผู้ชมเข้าใจแนวคิดของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
กิจกรรมที่ 4 การรณรงค์การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
นักเรียนได้ร่วมรณรงค์ให้ความรู้เรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และได้รับความสนใจ ทำให้เกิดแรงกระตุ้นในการช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
กิจกรรมที่ 5 สื่อหนังสือเล่มเล็กการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
จากการจัดทำสื่อหนังสือเล่มเล็กทำให้มีผู้สนใจเข้ามาชมผลงานของนักเรียน ทำให้เกิดแรงกระตุ้นในการจัดทำผลงานเล่มอื่น ๆ ต่อไป และตัวแทนนักเรียนเยาวชนจิตอาสาพารักษ์ป่าน่าน ได้เข้าร่วมการแข่งทำหนังสือเล่มเล็กระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และได้รับรางวัลเหรียญเงินของการแข่งขัน ในระดับสหวิทยาเขตน่านเหนือ
ประโยชน์ที่ได้รับและการเผยแพร่
1. นักเรียนได้เรียนรู้วิธีการคืนต้นไม้สู่ป่าใหญ่ และเรียนรู้กับชุมชนในการอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน
2. นักเรียนมีต้นไม้เป็นตนเอง มีความรู้ความเข้าใจในการปลูกต้นไม้ การดูแล การรู้จักพรรณไม้ และแนวทางการรักษาต้นไม้ให้คงอยู่
3. นักเรียนได้เรียนรู้การทำหนังสั้นปลุกจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
4. นักเรียนได้รณรงค์การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้เกิดแรงกระตุ้นในการช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การดำเนินกิจกรรม
5. นักเรียนได้เรียนรู้การจัดทำสื่อหนังสือเล่มเล็กการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและได้รับรางวัลเหรียญเงินของการแข่งขัน ในระดับสหวิทยาเขตน่านเหนือ
6. นักเรียนได้จัดทำสื่อและเผยแพร่ผลงานลงในเว็บไซต์ของโรงเรียน
7. นักเรียนได้จัดทำเอกสารแผ่นพับออกเผยแพร่สู่ชุมชน
ปัจจัยความสำเร็จ
จากการดำเนินงานที่ผ่านมา โครงการเยาวชนจิตอาสาพารักษ์ป่าน่าน ได้ดำเนินงานตามกิจกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเชิญชวนให้นักเรียนในโรงเรียนร่วมกันเป็นจิตอาสา ช่วยกันปลูกต้นไม้ในโรงเรียน และขยายผลการอนุรักษ์สู่พื้นที่ชุมชน มีการจัดทำหนังสั้น หนังสือเล่มเล็ก พร้อมทั้งจัดทำเอกสารการเผยแพร่ การเดินรณรงค์ การประชาสัมพันธ์ลงจุดต่าง ๆ เช่น ศาลาประชาคมในชุมชน การเดินแจกเอกสารแผ่นพับตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งได้รับความสนใจจากนักเรียนและชุมชน ทำให้เกิดแรงผลักดันในการอนุรักษ์ทรัพยากรต่อไป
ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะ
1. นักเรียนยังไม่เกิดความหวงแหนทรัพยากรทางธรรมชาติของตนเอง
2. การปลุกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติยังเป็นเรื่องที่ผู้คนไม่ค่อยให้ความสนใจ
3. ในชุมชนยังยึดติดการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม
4. งบประมาณในการส่งเสริมและสนับสนุนยังไม่เพียงพอ
5. การปลูกป่าที่ยั่งยืนต้องเริ่มจากการ “ปลูกป่าในใจคน” ซึ่งต้องมีการใช้เวลาพอสมควร
แนวทางการพัฒนาต่อเนื่อง
1.เพิ่มจำนวนกลุ่มแกนนำเยาวชนจิตอาสาพารักษ์ป่าน่าน
2.ขยายผลการดำเนินงานสู่ชุมชนอย่างกว้างขวางในเขตพื้นที่บริการ
3.จัดทำสื่อและประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง
4.การเข้าไปมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียนและชุมชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
5.เพิ่มพื้นที่การอนุรักษ์ป่าไม้ในโรงเรียนและชุมชนให้มากยิ่งขึ้น
เอกสารอ้างอิง
1.โครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สำนักงาน. การประชุมวิชาการ “แนวปฏิบัติที่ดี ในการพัฒนาเด็กและเยาวชนตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” กรุงเทพฯ : พี.เอ.ลีฟวิ่ง จำกัด, 2554
2.ไซมอน การ์ดเนอร์ และคณะ : ต้นไม้เมืองเหนือ : คู่มือศึกษาพรรณไม้ยืนต้นในป่าภาคเหนือประเทศไทย : กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2543
3.สำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ : คู่มือการเพาะกล้าไม้ท้องถิ่นเพื่อใช้ปลูกเพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร : ส่วนศึกษาการพัฒนาการอนุรักษ์ต้นน้ำ สำนักอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช, กทม. 2559
4.ประภัสสร ยอดสง่า : พรรณไม้ในโครงการ มศว. ตรอน : บริษัทแอคทีฟ พริ้นท์ จำกัด 2553
5.กรมป่าไม้, บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง : พรรณไม้ป่าพื้นบ้านอาหารชุมชน เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 12 สิงหาคม 2555
6.สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(องค์การมหาชน) : พระบารมีปกเกล้า ผืนป่าปกแผ่นดิน, บริษัทโรงพิมพ์ตะวันออก จำกัด(มหาชน) พิมพ์ครั้งที่ 2 กทม. 2551
ชื่อ-สกุล ผู้ดำเนินผลงาน
นางสาวชนิตา ศรีเรือง โทรศัพท์ 0931309576 E-mail yimphy@gmail.com
นางนันท์ติกัน แซ่ตั้น โทรศัพท์ 0844704809 E-mail prim_ang_ja@hotmail.com
นายศุภชัย โลกคำลือ โทรศัพท์ 0844704809 E-mail chay01_125@hotmail.com
นายสุรวุธ อินทำ โทรศัพท์ 0827871670 E-mail surawooth@gmail.com
โรงเรียน มัธยมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติ
สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 37 จังหวัดแพร่ – น่าน
โทรศัพท์ 054-693533 โทรสาร 054-693533